วันศุกร์ที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2554

รวยด้วยหุ้น : กองทุนรวม รวยได้ไหม Rich with mutual fund

ปัจจุบันผู้มีเงินออมรู้จักช่องทางการลงทุนมากขึ้น หนึ่งในนั้น คือการลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งบริหารโดยผู้จัดการกองทุน ที่เป็นมืออาชีพด้านการลงทุนทั้งการลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้  สินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งทองคำ น้ำมัน และสินค้าเกษตร เหล่านี้เป็นต้น 
นอกจากนี้ปัจจุบันกองทุนรวมก็มีหลากหลายให้เลือกสรรตามระดับความเสี่ยงที่รับได้และเป้าหมายผลตอบแทนที่แต่ละคนต้องการ

ก่อนที่จะนำเงินไปให้ผู้จัดการกองทุนที่เราไว้ใจให้บริหารจัดการลงทุน  นักลงทุนต้องไตร่ตรองอย่างรอบคอบ  สำหรับเคล็ดลับพื้นฐานในการเลือกกองทุนรวมให้ตรงกับความต้องการ จากการสำรวจไปยังผู้จัดการกองทุน พอสรุปได้10 ข้อดังต่อไปนี้

1.ที่มาของผลตอบแทน หรือรีเทิร์น 

ทั้งนี้แม้อัตราผลตอบแทนเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จที่สำคัญของธุรกิจกองทุนแต่ก็ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่าง  นักลงทุนควรสืบหาว่าตัวเลขที่ปรากฏนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร เช่น การเทียบผลตอบแทนกองทุนทุกๆเดือนกับดัชนี  โดยหาเดือนที่ผลตอบแทนสูงเป็นพิเศษแล้ววิเคราะห์ว่าเดือนที่สามารถชนะตลาดนั้นมาจากปัจจัยใดบ้าง และผู้จัดการกองทุนน่าจะสามารถทำซ้ำได้อีกในอนาคตหรือไม่

2. เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน 

เนื่องจากกองทุนรวมมีหลายประเภท ดังนั้นการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนควรเปรียบเทียบระหว่างกองทุนที่มีนโยบายและคุณสมบัติคล้ายกันที่สุด  เช่น  กองทุนที่ลงทุนในหุ้น  ก็มีหลากหลาย ดังนั้นต้องเปรียบเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายเดียวกัน เช่น นโยบายลงทุนในหุ้นกลุ่ม SET 50  เป็นต้น

3. ซื้อของดีและถูก 

กองทุนแต่ละกองมีค่าใช้จ่ายไม่ใช่น้อย ทั้งค่าบริหารกองทุน ค่าผู้ดูแลผลประโยชน์  และค่าทำการตลาด เป็นต้น  โดยทั่วไป กองทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงมักจะมีค่าใช้จ่ายมากตามไปด้วย  ข้อมูลอัตราส่วนค่าใช้จ่าย หรือเปอร์เซ็นของสินทรัพย์ที่จะต้องหักไปจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถบอกได้ว่ารายได้สุทธิที่นักลงทุนจะได้รับจะถูกลดตัดตอนไปมากน้อยเพียงใด และคุ้มค่ากับผลตอบแทนที่ได้รับกลับคืนมากแค่ไหน

4. หลีกเลี่ยงกองทุนที่มีเทิร์นโอเวอร์สูง หรือกองทุนที่มีอัตราหมุนเวียนหลักทรัพย์สูง หรือมีการซื้อขายหลักทรัพย์บ่อยครั้ง

ทั้งนี้เพราะจะทำให้มีค่าใช้จ่ายทางอ้อมต่อเงินของนักลงทุน คือ ค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรมหรือคอมมิชชั่นนั่นเอง

5. ทำความรู้จักผู้บริหารกองทุน

นักลงทุนสามารถวิเคราะห์แนวทางการลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้หลายทาง เช่น การคำนวณทางคณิตศาสตร์และสถิติ เพื่อหากลยุทธ์ของผู้จัดการกองทุนว่ามีประสิทธิภาพเข้ากับสไตล์ของผู้ลงทุนหรือไม่

นอกจากนี้อาจเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนกับกรอบดัชนีที่หลากหลาย เช่น ประเภทของอุตสาหกรรม ขนาดของหลักทรัพย์ ขอบเขตภูมิภาค แล้วผู้ลงทุนอาจจะพอเห็นว่าธรรมชาติของผู้จัดการกองทุนนั้นๆ มีแนวโน้มตามตลาดใด ชอบตัวแปรปัจจัยใดเป็นพิเศษ และแพ้ทางสถานการณ์แบบใด ซึ่งปัจจุบันมีหน่วยงานกลางหลายแห่ง มีบริการจัดอันดับกองทุนตามวิธีของตนเผยแพร่กับนักลงทุนมากขึ้น
6. แอ็คทีฟ กับ แพสซีฟ ฟันด์    กองทุนแบบแพสซีฟ ( passive) 

คือ กองทุนที่ไม่ได้ถูกบริหารอยู่ตลอดเวลา การบริหารกองทุนประเภทนี้ไม่ต้องการหาช่องทางในการชนะตลาดเหมือนกองทุนแบบแอคทีฟ( active) แต่จะพยายามเลียนแบบผลตอบแทนและความเสี่ยงของดัชนีที่เลือกไว้ (เช่น SET50)

เนื่องจากกองทุนประเภทนี้ไม่ต้องบริหารจัดการและการตัดสินใจอะไรมากมาย ค่าใช้จ่ายการจัดการกองทุนจึงน้อย

7. ทีมผู้บริหาร สไตล์การบริหารของผู้บริหารและนโยบายของบริษัทจัดการกองทุนหรือบลจ. 

สามารถสร้างความแตกต่างในการบริหารกองทุนได้   เพราะการมีบริษัทแม่ที่แข็งแกร่ง มีทีมผู้บริหารที่มากประสบการณ์  ย่อมสามารถดึงตัวผู้จัดการกองทุนเก่งๆประสบการณ์สูงมาทำงานด้วยได้

8. คัดทิ้งอาจเป็นการเลือกที่ดีที่สุด 

ปัจจุบันบลจ.แข่งกันออกผลิตภัณฑ์กองทุนรวมอย่างดุเดือด  และจะเห็นได้ว่าบางกองทุนก็แค่เปลี่ยนคุณสมบัติจากกองอื่นๆเล็กน้อยเพื่อให้ตั้งชื่อใหม่ได้  ทำให้การเลือกลงทุนยากขึ้นทุกวันๆเพราะมีตัวเลือกมากมาย  ดังนั้นการตัดตัวเลือกทิ้งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจ  แทนที่นักลงทุนจะวิเคราะห์คัดเลือกกองทุนทีละกองมาใส่พอร์ตการลงทุนของตัวเอง  นักลงทุนสามารถกำจัดกองทุนที่ไม่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกของตัวเองออกไป และลงทุนในกองทุนที่ผ่านเกณฑ์

9.กองทุนขนาดใหญ่ อาจไม่ใช่กองทุนที่ดี 

ทั้งนี้เมื่อผลประกอบการดี ขนาดของกองทุนจะโตขึ้นเรื่อยๆ จากการเพิ่มค่าของสินทรัพย์ในกองทุน และเงินที่หลั่งไหลเข้ามาจากนักลงทุน การเติบโตอย่างรวดเร็วนั้น ถ้าเป็นกองทุนดัชนีหรือตราสารหนี้ย่อมเป็นสิ่งที่ดี เพราะค่าใช้จ่ายจะถูกกระจายไปยังสินทรัพย์ที่มากขึ้น และอำนาจต่อรองของตลาดตราสารหนี้มักขึ้นกับปริมาณที่ซื้อ จึงลดต้นทุนต่อหน่วยลงทุน

อย่างไรก็ตามความใหญ่โตอาจส่งผลเสียต่อกองทุนแบบอื่นๆ เช่นกองทุนหุ้นได้  ประการแรกคือ กองทุนที่ลงทุนในหุ้นที่มีสภาพคล่องเพียงไม่กี่ตัว กองทุนที่มีขนาดใหญ่จะทำให้การซื้อขายหลักทรัพย์ยากขึ้นเมื่อตลาดมีสภาพคล่องต่ำ  ประการต่อมา กลยุทธการลงทุนอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง วิธีบริหารกองทุนที่เคยใช้ได้ดีในอดีตอาจจะไม่ได้ผลเมื่อขนาดกองทุนนั้นเพิ่มเป็นสองเท่า ประการสุดท้าย เมื่อผู้จัดการกองทุนมีเงินมากและเงินเหล่านั้นจะต้องถูกใช้อย่างรวดเร็ว การตัดสินใจอาจจะทำให้ผลลัพธ์ไม่ได้ประสิทธิภาพสูงสุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น