วันศุกร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2554

รวยด้วยหุ้น : มือใหม่หัดรวย ก้าวที่ห้าต้องรู้

                อ่านแล้วรวย   หลังจากบริษัทต่างๆ ได้รับอนุญาต จากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต. ให้ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ กล่าวคือ เป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว บริษัทดังกล่าวก็จะเริ่มขั้นตอนนำหุ้นเสนอขายให้กับประชาชน การจะนำหุ้นขายให้กับประชาชนนั้น เริ่มแรกบริษัทที่ได้รับอนุญาต จะกำหนดราคาของหุ้นไว้บนใบหุ้น หรือเรียกเป็นทางการว่า "มูลค่าที่ตราไว้" หรือ PAR VALUE หรือเรียกกันสั้นๆ ในหมู่นักลงทุนว่า "ราคาพาร์" หรือ "ราคาหน้าหุ้น" อันเป็นข้อมูลที่แสดงให้ทราบ ถึงมูลค่าเงินลงทุนเริ่มแรกสำหรับหุ้นนั้นแต่ละหน่วย อีกทั้งยังใช้แสดงให้ทราบถึงทุนจดทะเบียนตามกฎหมาย เช่น บริษัทเขียวส่องมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท แบ่งเป็น 10 ล้านหุ้น ดังนั้นมูลค่าของหุ้น 1 หุ้นจะเท่ากับ 10 บาท หุ้นบริษัทเขียวส่องจึงมีราคาพาร์ 10 บาทนั่นเอง ปัจจุบันเราจะเห็นว่า บริษัทที่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์นั้น มูลค่าที่ตราไว้หรือราคาพาร์ของหุ้น มีทั้ง 10 บาท 5 บาท และ 1 บาท ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจซื้อหุ้น ต้องดูด้วยว่าหุ้นของบริษัทนั้นราคาพาร์เท่าใด หลังจากนั้น บริษัทจดทะเบียนจะเสนอขายหลักทรัพย์หรือหุ้น ให้กับประชาชน ทั่วไปหรือ PUBLIC OFFERING โดยจะต้องเสนอขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่รับเป็นผู้จัดจำหน่ายแทน อีกทั้งต้องทำหนังสือชี้ชวนตามหลักเกณฑ์ที่ กลต. กำหนด 
หลักเกณฑ์ที่ประชาชนได้พบได้เห็นได้ฟังบ่อยๆ ในการเสนอขายหุ้นแต่ละครั้ง อันเป็นข้อบังคับของกลต. คือ จะมีข้อความกำกับการเสนอขายหุ้น หรือผู้ประกาศ มักจะประกาศเร็วมากแทบฟังไม่ทันว่า "การลงทุนมีความเสี่ยง ต้องพิจารณาให้รอบคอบ " ราคาของหลักทรัพย์หรือหุ้น ที่บริษัทเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปนี้ จะรู้จักกันในชื่อราคาไอพีโอ (PUBLIC OFFERING PRICE ) หรือมักจะเรียกกันง่ายๆ ว่า "ราคาอันเดอร์ไรท์" (UNDERWRITE) หรือ "ราคาจอง" ซึ่งจะสูงกว่าราคาพาร์ เพื่อที่บริษัทจะได้นำส่วนต่างที่เหลือไปลงทุน ยกตัวอย่างหุ้นหรือหลักทรัพย์ ที่ประชาชนได้ลงทุนอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ คือ หุ้นของบริษัทปตท. จำกัด มหาชน 1 หุ้น ราคาพาร์ 10 บาท เปิดให้ประชาชนจองเป็นการทั่วไป ในราคาจองหรือราคาไอพีโอที่ 35 บาทต่อ 1 หุ้น โดยเปิดให้จองซื้อได้ผ่านธนาคารต่างๆ หลายแห่ง ปรากฎว่า ประชาชนจองซื้อหมดภายในเวลาไม่กี่นาที การที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือกลต. ให้เสนอขายหุ้นให้กับประชาชน ในราคาจองเป็นการทั่วไปครั้งแรก ผ่านการจัดจำหน่ายของบริษัทจัดจำหน่ายนั้น เรียกการขายหุ้นดังกล่าวว่า เป็นการขายหุ้นใน "ตลาดแรก" (PRIMARY MARKET) เมื่อประชาชนจ่ายเงินซื้อหุ้นจองของบริษัทจดทะเบียนที่สนใจไปแล้ว หากต้องการเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนหุ้นเป็นเงิน ก็สามารถทำได้เมื่อต้องการ โดยการซื้อขายผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เราจะเห็นบรรยากาศหรือสภาวะการซื้อขายผ่านหน้าจอโทรทัศน์ / การรายงานทางวิทยุ หรือสื่อมวลชนทุกวันทำการนั่นเอง ดังนั้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จึงมีบทบาทในฐานะตลาดรอง (SECONDARY MARKET) เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักทรัพย์ ช่วยเสริมสภาพคล่องให้แก่หุ้น และสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ว่า เมื่อซื้อหุ้นในตลาดแรกหรือหุ้นจองไปแล้ว หุ้นที่ซื้อไป จะสามารถเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เมื่อต้องการ คือ นำหุ้นไปซื้อ - ขายหรือเปลี่ยนมือในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง เพียงแต่ว่า จะเปลี่ยนมือหรือเปลี่ยนเป็นเงินได้เท่าใด ได้กำไรหรือขาดทุนนั้นขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัท / อุปสงค์ / อุปทานของหุ้น จังหวะของการซื้อ - ขาย รวมทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งระดับประเทศและโลก ที่ต่างมีผลต่อสภาวะการซื้อขายหุ้นทั้งนั้น สรุปแล้ว บริษัทที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์หรือกลต. ให้ขายหุ้นกับประชาชนได้นั้น สามารถระดมทุนไปใช้ในกิจการ ในขณะที่ผู้ซื้อหุ้นหรือนักลงทุน จะได้รับประโยชน์จากส่วนต่างของราคาหุ้น ที่ซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดรอง หรือตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบางครั้งอาจจะขาดทุนก็เป็นได้แต่หากเลือกหุ้นของบริษัทที่มีผลประกอบการดี ธุรกิจเยี่ยม ผู้บริหารยอด ก็ยังจะได้รับเงินปันผลตอบแทนในแต่ละงวด 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น