วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

รวยด้วยหุ้น : มือใหม่หัดรวย ก้าวที่สามต้องรู้

                   อ่านแล้วรวย จะเล่าต่อเรื่องตลาดหุ้นให้เข้าใจสำหรับมือใหม่ก่อนครับ เพราะหุ้นนั้นนอกจากเราจะวิเคราะห์ไปในอนาคตถึงแนวโน้มในอนาคตแล้ว  ยังต้องรู้ข้อมูลในอดีตมาเป็นข้อมูลสำคัญ ตลาดหุ้น คือแหล่งหรือศูนย์กลางระดมเงินทุนให้กับบริษัทเอกชน เพื่อนำไปใช้ก่อตั้งหรือขยายกิจการ อันจะเป็นผลดีต่อธุรกิจ รวมทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์ จึงถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งคือ ”ตลาดทุน” ตลาดหุ้น หรือตลาดหลักทรัพย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกคือ Paris Bourse ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.1681 (หรือ 100 ปีก่อนพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สถาปนากรุงสุโขทัยเป็นราชธานี) แต่ตลาดดังกล่าว ยังไม่ใช้ใบหุ้นซื้อขายแลกเปลี่ยนอย่างแท้จริง ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ที่ทำธุรกิจอย่างจริงจังตามลักษณะของตลาดหุ้น แห่งแรกคือตลาดหลักทรัพย์ในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเริ่มธุรกิจซื้อขายหุ้นเมื่อปี พ.ศ. 2145 ซึ่งตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่กว่าตลาดหุ้นแห่งนี้ จะพัฒนาเป็นตลาดที่เข้มแข็งได้ ก็ใช้เวลาประมาณ 100 ปี ตลาดหุ้นหรือตลาดหลักทรัพย์ ที่เรามักจะได้ยินได้ฟังความเคลื่อนไหวบ่อยๆ คือตลาดหุ้นนิวยอร์ค (New York Stock Exchange หรือ NYSE) ของสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2335 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตลาดหุ้นของไทย หรือชื่อเรียกเป็นทางการว่า ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นั้น จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พ.ศ. 2517 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ จัดให้มีแหล่งกลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ทำหน้าที่ส่งเสริมการออมทรัพย์และระดมเงินทุนในประเทศ สนับสนุนให้ประชาชน มีส่วนเป็นเจ้าของกิจการและอุตสาหกรรมในประเทศ โดยการเข้าไปซื้อหรือถือหุ้นบริษัทต่างๆ ตลอดจนให้ความคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น ให้เกิดความยุติธรรมในการซื้อขายหุ้น เมื่อประกาศใช้กฎหมายแล้ว ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (The Stock Exchange of Thailand หรือชื่อย่อคือ SET) เริ่มทำการซื้อขายวันแรกวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2518
มีที่ตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 อาคารศูนย์การค้าสยาม ถนนพระราม 1 เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยนายศุกรีย์ แก้วเจริญ เป็นกรรมการผู้จัดการคนแรก มีหลักทรัพย์หรือหุ้นของ16 บริษัท เข้าซื้อขาย และดัชนีของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนั้น ถือเป็นมาตรฐานคือ 100 จุด การซื้อ - ขายหุ้นในระยะแรก ผู้ซื้อ - ขายหรือนักลงทุน ใช้วิธีการประมูลผ่านตัวแทนนายหน้าซื้อขายหุ้น หรือที่เรียกกันว่าโบรกเกอร์ วิธีการดังกล่าวเรียกกันว่า "เคาะกระดานหุ้น" ประชาชนที่ไปซื้อ - ขายหุ้นมักจะพูดกันง่ายๆ ว่า ”ไปตลาด” ต่อมาได้พัฒนาเป็นกระดานอีเลคทรอนิคส์ ซึ่งเป็นกระดานหุ้นขนาดใหญ่ในห้องค้าของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และบริษัทโบรคเกอร์ต่างๆ โดยที่ห้องค้านี้ จะมีนักลงทุนที่เป็นลูกค้า ผู้ลงทะเบียนไว้กับบริษัทโบรคเกอร์แต่ละแห่ง เข้าไปซื้อขายหุ้นที่มีอักษรย่อของหุ้นแต่ละตัว ปรากฏบนกระดานเมื่อตลาดหุ้นเปิดทำการ หรือเป็นช่วงของการซื้อ - ขาย จะปรากฏสีสันที่แสดงสภาวะราคาของหุ้นแต่ละตัว และสภาวะตลาดหุ้นโดยรวม เป็นไฟกระพริบสามสี หากหุ้นตัวใด ซื้อ - ขาย ณ ระดับราคา สูงกว่าวันทำการก่อนหน้านั้น ราคาและปริมาณซื้อขายหุ้นจะเป็นสีเขียว ยกตัวอย่างเช่น หุ้นหรือหลักทรัพย์บริษัทเขียวส่อง จำกัด ซื้อขายครั้งสุดท้าย ซึ่งเรียกกันว่า ”ราคาปิด” ของวันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2547 ที่ 50 บาท วันต่อมา คือวันอังคารที่ 20 มกราคม 2547 หากซื้อ - ขายกันสูงกว่า 50 บาท หุ้นตัวนี้จะแสดงเป็นสีเขียว หากซื้อ - ขายเท่ากับวันก่อน จะแสดงเป็น สีส้ม
และหากซื้อ - ขายราคาต่ำกว่าวันก่อน จะแสดงเป็นสีแดง
 พูดง่ายๆ คือหากหุ้นตัวใดเป็นสีเขียว คือ หุ้นขึ้น สีแดง คือ หุ้นตัวนั้นราคาตก และต่อมา จึงมีการเปรียบเปรยกันว่า สีแดงนั้นเหมือนกองไฟที่แมลงเม่า หรือแมงเม่าที่เปรียบเสมือนนักลงทุนรายย่อย บินเข้าไปหานั่นเอง ในลักษณะเดียวกัน หากจะดูเบื้องต้นง่าย ๆ แล้ว เมื่อกระดานหุ้นทั้งหมด ปรากฎสีเขียวมากกว่าสีแดง ก็คือ หุ้นขึ้น แต่หากสีแดงมากกว่าสีเขียว สภาวะนั้นคือ หุ้นตก จนถึงทุกวันนี้ เมื่อการซื้อขายหุ้น ทันสมัยถึงขั้นออนไลน์สภาวะซื้อขายจริง มาถึงคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่บ้านของลูกค้า ของบริษัทนายหน้าค้าหลักทรัพย์ หรือ โบรคเกอร์ และถึงขั้นที่นักลงทุน สั่งซื้อ - ขายหุ้น ผ่านระบบอินเตอร์เน็ทได้แล้ว สีเขียว สีส้ม และสีแดง ยังเป็นสัญลักษณ์ของหุ้นขึ้น หุ้นทรงตัว และหุ้นตกอยู่ ปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีที่ตั้ง ณ อาคารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ติดกับศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฉบับใหม่ ถูกตราขึ้นเพื่อใช้แทนฉบับเดิม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ พัฒนาธุกิจหลักทรัพย์หรือหุ้น ให้ก้าวหน้าต่อไปในอนาคต ตลอดจนวางมาตรฐานให้ธุรกิจหลักทรัพย์ที่มีอยู่และจะเกิดขึ้นใหม่ ให้ได้มาตรฐานทัดเทียมนานาประเทศ และกิจกรรมของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้เข้ามาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ที่สำคัญคือ มีการตั้งคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. เพื่อทำหน้าที่ดูแลพัฒนาตลาดทุนหรือตลาดหุ้นทั้งระบบ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ถือเป็นองค์กรอิสระ มีกรรมการไม่เกิน 11 คน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน และผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการชุดนี้ จะทำหน้าที่กำหนดกฎข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของตลาดทุนหรือตลาดหุ้น รวมถึงการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชน ดูแล การกระทำที่ไม่เป็นธรรม และเรื่องอื่น ๆ ในส่วนของการดำเนินงานรายวันของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือตลาดหุ้นนั้น คณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมีบทบาทเฉพาะการกำหนดนโยบายหลัก ๆ โดยการให้ความเห็นชอบในการออกกฎข้อบังคับสำคัญๆ ของตลาดหลักทรัพย์ แต่ ก.ล.ต.จะไม่มีส่วนไปเกี่ยวข้อง กับการดำเนินการประจำวันของตลาดหลักทรัพย์ ข่าวที่ได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ เกี่ยวกับ ก.ล.ต. คือ การเข้าไปตรวจสอบการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ การกล่าวโทษหรือจับผู้ทำราคาหรือปั่นหุ้นเป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น